Li-Fi Technology


Posted 19 Aug 2020 10:26 | 6,299 views

Li-Fi เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายแแบบใช้แสงอาจเปลี่ยนโลกของระบบเครือข่ายไร้สายในอนาคตอันใกล้ซึ่งอาจจะมาแทนที่ Wi-Fi ที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความเร็ว

Li-Fi ย่อมาจากคำว่า Light Fidelity เป็นเทคโนโลยีในการสื่อสารไร้สายเช่นเดียวกับ Wi-Fi ที่เรารู้จักกันดี แต่ Li-Fi จะใช้แสงสว่างในการสื่อสารแทนที่จะใช้คลื่นวิทยุ ดังเช่นเทคโนโลยี Wi-Fi คือ 802.11ac หรือ เทคโนโลยี 3G/4G/5G และมีผลการทดสอบจริงในออฟฟิศ Li-Fi สามารถรับส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็ว 1 GB ต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่า Wi-Fi ถึง 100 เท่า

เทคโนโลยี Li-Fi

Li-Fi เทคโนโลยีใหม่ที่คิดค้นโดยศาสตราจารย์ แฮโรลด์ ฮาส แห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระในสกอตแลนด์ ได้เสนอแนวคิดนี้มาตั้งแต่ปี 2011 ที่จะใช้หลอดไฟแบบ LED ภายในบ้านเป็นตัวกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งผลจากการทดลองสามารถส่งข้อมูลได้เร็วกว่า Wi-Fi ถึง 100 เท่า เรียกได้ว่าสามารถส่งข้อมูลขนาด 1GB เสร็จได้ ภายในเวลาแค่ 1 วินาที


 

หลักการของเทคโนโลยีนี้ จะใช้การกระพริบของไฟ LED อย่างรวดเร็วในระดับ nano seconds (1/1,000,000 วินาที) นั่นคือกระพริบถี่จนระดับที่สายตาของมนุษย์ไม่สามารถมองเห็น และรูปแบบของข้อมูลจะส่งผ่านไปเป็นค่าความสว่างของแสง (Amplitude) ซึ่งแตกต่างจากระบบปัจจุบันที่เราใช้เป็นคลื่นวิทยุ (Wi-Fi , 4G) ล่าสุดในการทดลองเทคโนโลยีนี้ในห้องแล็บ พบว่ามันสามารถทำความเร็วในการส่งข้อมูลได้ถึง 224 Gbps และตอนนี้ก็เริ่มมีการนำเอาไปทดลองใช้จริงในหลายๆที่ รวมถึงมีบริษัท Start Up ผลิตหลอดไฟและอุปกรณ์รับสัญญาณออกขายแล้ว และล่าสุดในการทดลองเทคโนโลยีนี้ ยังสามารถส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตแบบแสงผ่านหลอด LED ไปยังตัวรับสัญญาณที่เป็นเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) นั่นคือตัวรับสัญญาณนอกจากจะรับข้อมูลแบบไร้สายความเร็วสูงผ่านแสงแล้ว ยังผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย 

จุดเด่นของ LI-FI เทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนโฉมอินเทอร์เน็ตในบ้าน

  • ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะว่าสามารถใช้งานกับอุปกรณ์หลอดไฟ LED ที่ใช้อยู่ในบ้านเรือนที่พักอาศัย และอาคารต่างๆ ได้ทันที
  • ด้านความปลอดภัยของข้อมูล เพราะว่าการส่งสัญญาณเป็นในรูปแบบแสงจึงไม่สามารถดักจับสัญญาณเหมือนแบบที่เป็นคลื่นวิทยุได้และการส่งสัญญาณเป็นแสงในอาคารจึงไม่สามารถผ่านกำแพงออกไปภายนอกอาคาร การดักข้อมูลจึงไม่สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน
  • ความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ใช้ ด้วยการส่งสัญญาณที่เป็นแสงไม่ใช่คลื่นวิทยุหรือคลื่นแม่เหล็ก
  • การรบกวนของสัญญาณน้อยกว่าแบบที่เป็นคลื่นวิทยุ

เทคโนโลยี Li-Fi จะสามารถตอบโจทย์ได้ดีในเรื่องการรับส่งข้อมูลที่ความเร็วสูงมากๆ แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อจำกัด เนื่องจาก “แสง” ไม่สามารถส่งข้ามผ่านกำแพงหรือสิ่งกีดขวางได้ ทำให้การเชื่อมต่อผ่านไม่ได้

ปัจจุบัน มีการพัฒนาและทดสอบอย่างต่อเนื่องในต่างประเทศ มีการทดสอบโดยการแยกสีออกเป็นสีแดง เขียว และน้ำเงิน ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลที่ความเร็วเพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ก็ถือว่าคงต้องรอให้มีการพัฒนาในเชิงพาณิชย์และหลังจากนั้นเราคงได้ทดสอบ Li-Fi แบบของจริงอีกครั้ง
 

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ Li-Fi

Philips Lighting เริ่มทดสอบเทคโนโลยี Li-Fi ส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ IoT ผ่านแสงแล้ว และออกมาประกาศขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Smart Lighting ด้วยการเพิ่มเทคโนโลยี Li-Fi เข้าไปภายใต้บริการ Light Fidelity Services เพื่อให้การรับส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) สามารถเลือกใช้แสงไฟเป็นอีกหนึ่งตัวกลางได้

ในการประกาศครั้งนี้ Philips Lighting ยังได้เผยถึงความร่วมมือกับ Icade ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มใช้ Li-Fi ในการให้บริการ Internet ภายในออฟฟิศที่ปารีสแล้ว

เทคโนโลยี Li-Fi ของ Philips นี้ทำงานผ่านหลอดไฟ LED ที่มีโมเด็มฝังอยู่ภายในตัวและทำการ Modulate แสงในขณะที่ฝั่ง Endpoint นั้นต้องติดตั้ง Li-Fi USB Dongle เพื่อรับและส่งข้อมูลผ่านแสงโดยเฉพาะ

Li-Fi จะสามารถเข้ามาช่วยเพิ่ม Coverage Area ให้ในพื้นที่บริเวณที่ Wi-Fi ไม่สามารถเข้าถึงได้ ในขณะที่การติดตั้งใช้งานนั้นก็สามารถเปลี่ยนหลอดไฟได้เลย ไม่ต้องหาจุดติดตั้งเพิ่มเติมเหมือน Wireless Access Point (AP) และ Li-Fi เองก็ไม่สามารถถูกดักฟังสัญญาณข้ามห้องได้อย่างที่เกิดกับ Wi-Fi

ด้านการเกษตรปัจจุบัน มิตรชาวไร่จะเห็นการเพาะปลูกในโรงเรือนมากขึ้น เนื่องจากสามารถควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดของการเจริญเติบโตของพืชก็คือ แสง ซึ่งจะเห็นว่าทางเลือกหนึ่งของการทดแทนแสงอาทิตย์ คือ การนำหลอด LED มาใช้ในโรงเรือน ดังนั้นการประยุกต์ใช้ Li-Fi ในโรงเรือนจะช่วยให้สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต และควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมในโรงเรือนได้อย่างอัตโนมัติ เช่น การรับข้อมูลจากเซนเซอร์ความชื้น และส่งข้อมูลกลับไปให้เซนเซอร์เพื่อรดน้ำตามความต้องการของพืช โดยเซนเซอร์ทุกตัวจะส่งข้อมูลผ่าน Li-Fi ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการ และควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตของพืชอย่างอัตโนมัติ และประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น จากการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าของหลอดไฟ LED ด้วยเทคโนโลยี Li-Fi

เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ ถูกพัฒนาตลอดเวลาไม่มีที่สิ้นสุดจริง ๆ ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้มนุษย์ หน้าที่ของเราจึงต้องเรียนรู้และพัฒนากับเทคโนโลยีต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จากรุ่นสู่รุ่นเช่นเดียวกัน

 

อ้างอิงที่มา : Purelifi, Thehackernews
Youtube    : Mostori Solutions
Line Official : Mostori Solutions 

Facebook Fan page: https://www.facebook.com/thairoboticsclub/